วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สร้างสรรค์ภาพให้แปลกตาด้วยลูกเล่นฟรี

     เมื่อ Google ประกาศแจกฟรี  Nik Collection ซึ่งเป็นชุดโปรแกรมแต่งภาพระดับมือโปร ช่วยในการปรับตกแต่งภาพให้สวยงามขึ้นได้อย่างง่ายดาย ดาวน์โหลดได้ฟรี ที่ https://www.google.com/nikcollection และติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์แบบง่ายๆ เช่นกัน


    หลังจากติดตั้งแล้ว จะปรากฏทั้งในโปรแกรม Adobe Photoshop และ 
Adobe Photoshop Lightroom 
    การใช้งานในโปรแกรม  Adobe Photoshop ให้เลือกไปที่ Filter>Nik Collection ซึ่งสามารถเลือกใช้งานได้มากกว่า Lightroom 



     เราสามารถปรับแต่งภาพได้ด้วยตนเอง มีให้เลือกทั้ง Silver Efex ที่สร้างภาพขาว-ดำ หรือสร้างภาพ HDR ได้ทั้งจากภาพเดียวหรือหลายๆภาพรวมกันด้วย HDR Efex


ภาพต้นฉบับ


ภาพที่ใส่ ลูกเล่นจาก Nik Collection


วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ถ่ายภาพให้เป็น(จริง)

      การเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพสำหรับมือใหม่ในยุคดิจิทัล ยุคที่ใครๆ ก็มีกล้อง DSLR กล้อง Mirrorless สะพายไปทุกที่ แต่จะมีสักกี่คนที่ถ่ายได้ ถ่ายเป็น ถ่ายสวย สิ่งที่ช่างภาพมือใหม่ทั้งหลายควรรู้ มีดังนี้
      1.ศึกษาให้เข้าใจ การเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องใดสักเรื่อง การอ่าน จะเป็นทำให้เรามีความรู้ใหม่ มีความรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถอ่านจากหนังสือ นิตยสาร รวมทั้งสิ่งพิมพ์ในยุคดิจิทัลด้วย ทั้ง เว็บไซต์ e-book โดยจะต้องพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ อ่านจากหลายๆ แหล่ง เพื่อเก็บรวบรวมความรู้ แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ
     2.ใช้กล้องให้คล่อง กล้องถ่ายภาพในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น กล้อง DSLR กล้อง Mirrorless ล้วนแล้วแต่มีระบบมากมาย การปรับตั้งค่าต่างๆ จะต้องลองใช้จนคุ้นเคย ต้องลองเล่น ลองใช้ ศึกษาคู่มือ จนคุ้นมือ จำได้ ใช้คล่อง นั่นเอง
    3.มองหาแนวคิด ก่อนกดชัตเตอร์ ให้ คิดว่าเราอยากได้ภาพอะไร ภาพที่ออกจะมาจะเป็นอย่างไร จะสื่อสารอะไรในภาพ 
    4.ติดใช้โหมด M การถ่ายภาพด้วยโหมด M (Manual) จะทำให้เราเข้าใจเรื่องการใช้กล้องถ่ายภาพได้ดีที่สุด ภาพที่ได้จะตรงกับความต้องการได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสง ความคมขัด ระยะชัดลึก-ชัดตื้น 
     4 ข้อเบื้องต้นที่จะทำให้ช่างภาพมือใหม่สามารถถ่ายภาพได้เป็น (จริง) และก้าวเข้าสู่ช่างภาพมืออาชีพต่อไปในอนาคตได้

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

เทคนิคเบื้องต้นในการถ่ายภาพบุคคล

เทคนิคเบื้องต้นในการถ่ายภาพบุคคล
  การเลือกเลนส์
ค่า F-Stop
ชัดตื้น

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

มุมกล้อง(Camera Angle) ส่งผลต่อภาพ

การเลือกมุมกล้องในการถ่ายภาพบุคคล
     ภาพที่เลือกใช้มุมกล้องแตกต่างกันส่งผลต่อการคิด การสื่อความหมาย และอารมณ์ภาพที่แตกต่างกันโดยทั่วไปมุมกล้องแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
     1.มุมปกติ หรือ มุมระดับสายตา (Eye-level Angle) เป็นการถ่ายภาพที่กล้องอยู่ในตำแหน่งขนานกับพื้นดิน อยู่ในระดับเดียวกับสายตา ให้ความรู้สึกเป็นปกติธรรมดา




     2.มุมต่ำ หรือ มุมเงย  (Low Angle) เป็นการถ่ายภาพที่กล้องอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าวัตถุที่ถ่าย เป็นภาพที่แหงนดู  ให้ความรู้สึกหรือสื่อความหมายว่าคนหรือวัตถุที่ถ่ายมีความสำคัญมากกว่าปกติ มีความสูงใหญ่ สง่าผ่าเผย มีอำนาจ ทรงพลัง



     3.มุมสูง (High Angle) เป็นการถ่ายภาพที่กล้องอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าวัตถุที่ถ่าย ให้ความรู้สึกบ่งบอกถึงขนาดเล็ก ด้อยโอกาส ความต่ำต้อย ไม่สำคัญ หมดอำนาจวาสนา

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

เลนส์ (lens)

เลือกเลนส์ให้เหมาะกับภาพ
โดย อาจารย์ ดร.ปรียา สมพื
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

     เลนส์ (Lens) เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการถ่ายภาพ เพราะเลนส์เป็นอุปกรณ์ส่วนแรกที่รับภาพก่อนจะนำไปสู่กระบวนการบันทึกภาพ เลนส์จึงเปรียบเสมือนดวงตาของมนุษย์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวให้กับภาพ เลนส์เป็นวัสดุโปร่งแสง ทำด้วยแก้ว หรือ พลาสติก อาจเป็นเลนส์นูนชิ้นเดียว หรือเป็นชุดเลนส์หลายชิ้นประกอบกัน เลนส์มีการเคลือบสารเคมีไว้หลายชั้น เพื่อช่วยลดแสงสะท้อนระหว่างชิ้นเลนส์ที่ซ้อนกัน ทำให้ได้ภาพที่มีสีถูกต้องและคมชัด
      เลนส์เป็นอุปกรณ์เปรียบเสมือนดวงตาของมนุษย์ และเปรียบเสมือนดวงตาของกล้องถ่าย จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญในการถ่ายภาพ สามารถแบ่งประเภทของเลนส์เป็น 5 ประเภท ดังนี้
      1.เลนส์มาตรฐาน (Normal Lens) เป็นเลนส์ที่ใช้ในการถ่ายภาพทั่วๆ ไป ภาพที่จะได้จะมีสัดส่วนปกติ ใกล้เคียงกับสายตาของมนุษย์มากที่สุด เลนส์มาตรฐานมักจะมีความยาวโฟกัส 50 มิลลิเมตร มีมุมรับภาพ 47 องศา  

เลนส์มาตรฐาน
ที่มา : http://www.mukphotoclub.com/muk/lens-02.php 

      2. เลนส์มุมกว้าง ( Wide - angle Lens ) เป็นเลนส์ที่มีความยาวโฟกัสสั้นกว่าหรือน้อยกว่าเลนส์มาตรฐาน เช่น 35 มม. 28 มม. 24 มม. เป็นต้น มีมุมการรับภาพกว้างกว่าเลนส์มาตรฐานทำให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าเลนส์มาตรฐานด้วย และยังได้ระยะชัดลึกตลอดทั้งภาพ การใช้เลนส์มุมกว้างจะได้ภาพที่มีสัดส่วนของวัตถุในภาพเกิดการผิดเพี้ยน เนื่องจากสิ่งที่อยู่ใกล้จะใหญ่ขึ้นไม่ได้สัดส่วนกับส่วนที่อยู่ไกล เลนส์มุมกว้างนิยมใช้ถ่ายภาพในสถานที่ที่คับแคบ  เช่น การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่ต้องการให้อยู่ในภาพทั้งหมด แต่ไม่สามารถจะหามุมได้ เพราะมีสิ่งกีดขวาง เช่น  แม่น้ำ ถนน เสาไฟ เป็นต้น 
       3.เลนส์เทเลโฟโต้หรือเลนส์ถ่ายไกล  (Telephoto Lens) คือ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสยาวกว่าเลนส์มาตรฐาน มุมการรับภาพจะแคบ มีความชัดลึกน้อย เหมาะกับการถ่ายภาพระยะไกลให้ดูใกล้ เช่น ภาพสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในระยะไกลๆ ที่ไม่สามารถเข้าใกล้ได้




ภาพ เลนส์ถ่ายไกล


     4. เลนส์ถ่ายใกล้ (Macro Lens) คือ เลนส์ที่ใช้ถ่ายภาพระยะใกล้กว่าปกติ ซึ่งเลนส์ทั่วไปไม่สามารถถ่ายภาพให้เห็นระยะใกล้มาก ๆ ได้ ซึ่งเลนส์ประเภทนี้จะมีกำลังขยายที่ข้างเลนส์ จะสามารถถ่ายภาพได้จนถึงขนาด 1:1 คือได้เท่าขนาดของวัตถุ เช่น การถ่ายภาพแมลง วัตถุขนาดเล็ก ดอกไม้ เป็นต้น
     5.เลนส์ซูม (Zoom Lens) คือ เลนส์ที่สามารถเปลี่ยนความยาวโฟกัสได้หลายระยะในเลนส์ตัวเดียวกัน  เป็นเลนส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสะดวกต่อการใช้งาน สามารถเปลี่ยนระยะความยาวโฟกัสได้ทั้งมุมกว้างหรือแคบได้ตามต้องการ สามารถถ่ายภาพได้หลายมุมมองโดยไม่ต้องเดินเข้าหรือออกจากวัตถุ เลนส์ซูมสามารถแบ่งตามช่วงของความยาวโฟกัสออกเป็น เลนส์ซูม  ช่วงมุมกว้าง เลนส์ซูมช่วงถ่ายไกล  และเลนส์ซูมช่วงถ่ายมุมกว้างและถ่ายไกลในตัวเดียวกันหรือที่เรียกว่า “เลนส์ครอบจักรวาล” นั่นเอง  (ณัฐกร สงคราม, 2557)

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ถ่ายภาพบุคคลควรเลือกขนาดภาพอย่างไร


โดย อาจารย์ ดร.ปรียา สมพืช


    การถ่ายภาพบุคคล (Portrait) เป็นการถ่ายภาพที่แสดงความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น สิ่งหนึ่งที่ช่างภาพจะต้องคำนึงถึงในการถ่ายภาพบุคคล นั่นคือ จะเลือกถ่ายภาพระยะไหนหรือเลือกขนาดภาพแบบไหนดี ซึ่งสามารถจำแนกขนาดภาพ
ภาพโดย ดร.ปรียา สมพืช



     1.ระยะใกล้ (Close-up Shot)  ภาพระยะใกล้ จะเน้นที่บริเวณใบหน้าของแบบ อาจเห็นแค่ไหล่ หรือระดับอก  เน้นสีหน้า แววตา การทอดสายตา ลักษณะของปาก ผิวหน้าและทรงผม สามารถดึงความโดดเด่นของดวงตา และใบหน้าได้เป็นอย่างดี 

       
            2.ครึ่งตัว (Half Shot) เป็นระยะที่จะแบ่งครึ่งช่วงตัวด้านบนของแบบ นั่นคือ ถ่ายตั้งแต่ศีรษะถึงแนวเอว ฉากหลังจะถูกลดบทบาทไป เป็นการถ่ายที่เน้นแบบอย่างชัดเจน ระมัดระวังในการตัดส่วนใดของอวัยวะร่างกายของแบบ โดยเฉพาะแขนและมือ ควรถ่ายให้เห็นส่วนโค้งของหัวไหล่ทั้งสองข้าง



              3.¾ ของตัว (Three-Quarter Shot) คือ ภาพบุคคลที่ถ่ายตั้งแต่ระดับศีรษะลงมาจนถึงแนวขาท่อนบนหรือเหนือเข่า แบบจะดูเด่นกว่าสภาพแวดล้อมหรือฉากหลัง


          

            4.บุคคลเต็มตัว (Full shot) คือ การถ่ายภาพบุคคลที่เห็นทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า โดยไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาายขาดหายไป อย่าให้ศีรษะและส่วนปลายเท้าชิดติดขอบภาพมากเกินไป